กินอย่างไร เป็นแบบนั้น จริงดิ?

เชื่อว่าหลายๆ คน ต้องเคยได้ยินคำพูดนี้กันอย่างแน่นอน ความจริงแล้วอาหารที่ทานเข้าไปนั้น ก็มีผลส่วนหนึ่ง แต่ถ้าระบบย่อยอาหารและดูดซึมของเราทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะทานดีแค่ไหน มันก็เปล่าประโยชน์ แล้วเราจะแก้ไขยังไงกันนะ ไปดูกันเลย

จากการศึกษาพบว่า จุลินทรีย์ในร่างกายมนุษย์นั้น มีอิทธิพลต่ออวัยวะและสุขภาพของเราเป็นอย่างมาก อวัยวะต่างๆ ของร่างกายจะทำงานไม่ได้เลยหากปราศจากจุลินทรีย์เหล่านี้ โดยเฉพาะระบบย่อยอาหารและลำไส้ของมนุษย์ที่ต้องพึ่งพาจุลินทรีย์เหล่านี้ในการย่อยและดูดซึมสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย

จุลินทรีย์ในลำไส้ของเรานั้นอยู่กันเป็นระบบนิเวศ โดยเรียกกันว่า “ชีวนิเวศจุลชีพ” หรือ (Microbiome – อ่านว่า ไมโครไบโอม) ซึ่งมีความหลากหลายและซับซ้อนสูงมาก พวกมันทำหน้าที่ผลิตเอนไซม์และโปรตีนหลายชนิดที่ร่างกายเราไม่สามารถผลิตได้เอง และนอกจากมันจะทำหน้าที่ในด้านการย่อยและดูดซึมแล้ว ยังช่วยในการทำงานของระบบสมอง ระบบภูมิคุ้มกัน และการอักเสบ ทำให้สามารถเชื่อมโยงลำไส้กับการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกายได้

โดยนักวิจัยพบว่า “ไมโครไบโอม” นั้นมีความเชื่อมโยงกับโรคต่างๆ มากมาย เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคอ้วน การย่อยอาหาร ภาวะลำไส้อักเสบ โรงสมองและประสาท และโรคผิวหนัง เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ถ้า “ไมโครไบโอม” ในลำไส้ของเราดีและมีความสมดุล การทำงานของอวัยวะต่างๆ และสุขภาพของร่างกายก็จะดีไปด้วย จึงไม่แปลกที่เรามักได้ยินคำพูดที่ว่า “You are what you eat.” หรือ “กินอย่างไร เป็นแบบนั้น” เพราะอาหารที่เรากินเข้าไปนั้นมีผลต่อประเภท ปริมาณ และชีวิตความเป็นอยู่ของจุลินทรีย์เหล่านี้เป็นอย่างมาก

ถ้าเราต้องการปรับ “ไมโครไบโอม” ในร่างกาย ก็สามารถทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการกินอาหารเพื่อให้มีจุลินทรีย์ชนิดดีเข้าไปอยู่ในลำไส้ ซึ่งจุลินทรีย์ที่ดีเหล่านี้เรียกว่า “โพรไบโอติกส์” ซึ่งมีอยู่ในอาหารจำพวกโยเกิร์ต นมเปรี้ยว กิมจิ คอมบูชา และอาหารหมักต่างๆ

นอกจากจะกินอาหารที่มีจุลินทรีย์ชนิดดีเข้าไปแล้ว ก็ควรกินอาหารที่มีพรีไบโอติกส์ หรืออาหารที่จุลินทรีย์เหล่านี้ชอบเข้าไปด้วย เช่น ผักต่างๆ หัวหอม กระเทียม ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว กล้วย ข้าวโอ๊ต แอปเปิล บุก โกโก้ และสาหร่าย เป็นต้น

จะเห็นว่าเพียงปรับพฤติกรรมการบริโภค เราก็มีสุขภาพดีได้ไม่ยากเลย

รู้ก่อน ป้องกันก่อน กับ Panacura clinic